top of page

"ภาวะปวดหลังเรื้อรัง" ภัยเงียบใกล้ตัวคุณ

ปวดหลังไม่หาย เป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นภัยเงียบ! มารู้จักภาวะปวดหลังจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกันเลย

"ภาวะปวดหลังเรื้อรัง" ภัยเงียบใกล้ตัวคุณ

โดย พ.ต.ต.นพ. วรพล เจริญพร


อาการปวดหลัง เรียกได้ว่าเป็นภาวะที่ต้องเคยเป็นกันแทบทุกคน เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ดำรงชีวิตโดยที่มีลำตัวตั้งตรงต่อสู้กับแรงโน้มถ่วงอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้กล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังที่มีถึง 29 ชิ้น ต้องมีการทำงานตลอดเวลา ทำให้อาการปวดหลังสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย




ทำไมถึงปวดหลัง?

ในปัจจุบันเราพบว่าผู้ป่วยมีอาการปวดหลังมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากกิจวัตรประจำวันและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเราสามารถพบได้ตั้งแต่

  • อาชีพที่ต้องทำกิจกรรมซ้ำๆ เป็นเวลานาน เช่น การนั่งโต๊ะทำงาน

  • การขาดการออกกำลังกายหรือการออกกำลังกายที่ไม่ถูกต้อง

  • ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน

  • อุบัติเหตุ

  • ความเสื่อมของร่างกาย

  • ความผิดปกติของระบบประสาท



ปวดหลังเรื้อรัง คืออะไร?

หลายๆ ครั้งอาการปวดหลังที่เกิดขึ้นมักจะหายได้เองในเวลาไม่กี่วัน หากเมื่อไรมีอาการปวดหลังรุนแรงมากขึ้นและไม่หายมากกว่า 3 เดือน ผู้ป่วยจะต้องคอยเฝ้าระวังว่าอาจจะเกิดจากสาเหตุที่มีความรุนแรงโดยสังเกตอาการดังนี้

  • มีอาการปวดหลังเรื้อรัง

  • มีอาการปวดมาก รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน จนต้องรับประทานยาแก้ปวดต่อเนื่อง

  • มีอาการปวดบริเวณหลังร้าวไปที่แขนหรือขา

  • มีอาการขาอ่อนแรง

  • มีอาการปัสสาวะ อุจจาระผิดปกติ


  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีไข้เวลากลางคืน


แนวทางการดูแลเบื้องต้น

เนื่องจาก 80% ของผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังมักมีสาเหตุหลักจากกล้ามเนื้อ ซึ่งสามารถรักษาได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมถูกต้องดังนี้

  • ดูแลท่าทางในกิจวัตรประจำวันให้ถูกต้อง ทั้งการนั่ง การยืน การเดิน หลีกเลี่ยงการยกของหนัก เดินหลังตรง ไหล่ผายออก ไม่นั่งเท้าคาง หลีกเลี่ยงการนอนคว่ำ

  • ออกกำลังกายเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังสม่ำเสมอ เช่น การเล่นโยคะ พิลาทิส หรือการว่ายน้ำ

  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม

  • หากต้องยกของหนัก แนะนำให้หลังตรง ย่อเข่าหรือมีอุปกรณ์ช่วยประคองหลัง

  • ยืดกล้ามเนื้อก่อนและหลังการใช้งาน



หากอาการปวดหลังยังไม่ทุเลาลง หรือมีอาการที่ต้องเฝ้าระวังดังที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ป่วยควรจะไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจเพิ่มเติม เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง


bottom of page