ทำความรู้จักวัยทอง
วัยทอง เป็นวัยที่ความบกพร่องของฮอร์โมนเพศที่ลดลง ซึ่งมีอิทธิพลต่อการทำหน้าที่ของอวัยวะต่างๆในร่างกาย และอิทธิพลต่อสภาวะจิตใจ แล้วเราเข้าสู้วัยทองแล้วหรือยังลองมาทำแบบทดสอบกัน
วัยทอง (Golden age) หมายถึง วัยแห่งความสำเร็จในชีวิตการงานของคุณผู้หญิงและคุณผู้ชาย แต่ในวัยนี้สุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจนั้นจะถูกบั่นทอนจากความเสื่อมของร่างกายตามอายุที่มากขึ้นและความบกพร่องของฮอร์โมนเพศที่ลดลง ซึ่งมีอิทธิพลต่อบทบาทในการทำหน้าที่ของอวัยวะต่างๆในร่างกายโดยเฉพาะอวัยวะเพศและอิทธิพลต่อสภาวะจิตใจจนทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ร้อนวูบวาบ และอาการวัยทองต่างๆตามมาทั้งเพศหญิงและเพศชาย
เมื่อพูดถึงคำว่า “วัยทอง” คนทั่วไปมักจะนึกถึงอาการของผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเป็นอันดับแรก ในทางการแพทย์จะเรียกผู้หญิงวัยทองว่า “เมนโนพอส” (Menopause) โดยฮอร์โมนเพศหญิงสร้างจากรังไข่ที่สำคัญ 2 ตัว คือ เอสโตรเจน (Estrogen) และ โปรเจสเตอโรน (Progeserone) ดังนั้น ภาวะการขาดฮอร์โมนเพศนั้นไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาเรื่องเพศอย่างที่เข้าใจกันเพียงเท่านั้น ฮอร์โมนเพศมีผลต่อร่างกายทุกระบบรวมถึงจิตใจของผู้หญิงตั้งแต่เด็กสาวจนถึงอายุใกล้ 50 ปี อัตราการลดลงของฮอร์โมนในเพศหญิงจะมากกว่าเพศชาย แต่ความจริงแล้วผู้ชายเองก็ก้าวสู่วัยทองเช่นเดียวกันกับผู้หญิง ในทางการแพทย์จะเรียกผู้ชายวัยทองว่า “แอนโดรพอส” (Andropause) ซึ่งหมายถึง กลุ่มอาการถดถอยทางร่างกายและจิตใจที่เกิดขึ้นกับผู้ชายวัยเกิน 40 ปีขึ้นไป
โดยมีความสัมพันธ์กับการที่ฮอร์โมนเพศชายหรือฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ในร่างกายลดระดับลงโดยหลังช่วงอายุ 40 ปี การผลิตฮอร์โมนเพศชายจะค่อยๆลดลงอย่างช้าๆประมาณปีละ 1% และเมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป ระดับฮอร์โมนเพศชายจะต่ำกว่าในวัยหนุ่มถึง 25% ดังนั้นอัณฑะจึงไม่ได้หยุดสร้างระดับฮอร์โมนเพศชายโดยสิ้นเชิง อัตราการลดลงของระดับฮอร์โมนเพศชายน้อยกว่าของเพศหญิง และถ้าใครที่ไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพ ไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะยิ่งส่งผลให้การผลิตฮอร์โมนเพศชายลดลงเร็วกว่าคนอื่นๆ นอกจากเรื่องของอายุซึ่งเป็นปัจจัยธรรมชาติที่ทำให้ฮอร์โมนเพศชายลดลงแล้วมีสภาวะบางอย่างที่เป็นตัวเร่งให้ผู้ชายเข้าสู่วัยทองเร็วกว่าปกติได้ด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหนัก การพักผ่อนน้อย ความเครียด ความวิตกกังวล การดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการสูบบุหรี่และโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่ก่อให้เกิดอาการของผู้ชายวัยทองเร็วขึ้นได้ทั้งนั้น
แบบทดสอบผู้หญิงวัยทอง คุณผู้หญิงมีอาการเหล่านี้บ้างหรือไม่
1. อาการร้อนวูบวาบ หรือ เหงื่อออกมากตอนกลางคืน
2. หลงลืมง่าย ขาดความสนใจต่อสิ่งต่างๆ
3. นอนหลับยาก หรือ หลับไม่สนิท เครียด หงุดหงิดง่าย
4. อ่อนล้า เพลีย ไม่มีกำลัง ปวดตามกล้ามเนื้อและข้อ
5. มีปัญหาเรื่องเหงือกและฟันบ่อย
6. ผิวหนังแห้ง ผมแห้ง เล็บเปาะบาง
7. ปัสสาวะบ่อย กลั้นไม่อยู่ หรือปัสสาวะเล็ด
8. ช่องคลอดแห้ง แสบ คัน
9. มีปัญหาเรื่องเพศ เช่น ความต้องการทางเพศลดลง หรือ รู้สึกเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์
10. ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง กลัวที่จะอยู่ในที่สาธารณะ
แบบทดสอบผู้ชายวัยทอง คุณผู้ชายมีอาการเหล่านี้บ้างหรือไม่
1. มีความต้องการทางเพศลดลง
2. ช่วงเวลาปฏิบัติการทางเพศอวัยวะเพศแข็งตัวน้อยลง
3. ความแข็งแรงและความมีพละกำลังลดลงไป
4. เตี้ยลง (ภาวะกระดูกเสื่อม)
5. มีความสุขในชีวิตลดลง หรือ รู้สึกว่าท้อถอย
6. รู้สึกซึมเศร้า เหงาหงอย อยากอยู่คนเดียว
7. รู้สึกเหนื่อยหน่าย ไม่มีเรี่ยวแรงเหมือนร่างกายขาดพลังงาน
8. ง่วงนอนง่ายคล้ายคนหมดแรง
9. ความสามารถในการเล่นกีฬาน้อยลง
10. ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
แม้วัยทองไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในทางการแพทย์ วัยทองเป็นกฎของธรรมชาติซึ่งทุกอย่างก็จะเสื่อมถอยลงไปตามธรรมชาติ สิ่งที่จะช่วยให้เราปรับตัวได้ดี คือ การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ลดอาหารประเภทไขมัน และรับประทานพืชผักและผลไม้ให้มากขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถเอาชนะความเสื่อมถอยตามธรรมชาติได้ แต่หากมีการจัดการกับชีวิตและสุขภาพให้ลงตัวก็อาจช่วยยืดเวลาแห่งความเป็นหนุ่มสาวให้ยาวนานภายใต้เงื่อนไขของธรรมชาติ
เรียบเรียงโดย
พ.อ.นพ.ยรรยงค์ อิ่มสุวรรณ
สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสุขภาพทางเพศ