โรคฉี่หนู
โรคฉี่หนู เป็นโรคที่มักพบในช่วงหน้าฝน เพราะหนูเป็นพาหะนำโรค และหากเราติดเชื้อจะมีอาการอย่างไรมาดูกัน
โรคฉี่หนู ภัยเงียบที่มากับน้ำท่วม (Leptospirosis)
“เลปโต เลปโต เลปโต เลปโต คือ โรคฉี่หนู ถ้าใครไม่รู้นึกว่าเป็นหวัด ฮัดชิ่ว ฮัดชิ่ว ฮัดชิ่ว ถ้าดูเผินๆ นึกว่าเป็นไข้ ถ้าดูชัดๆ แล้วมันไม่ใช่ ปวดเมื่อย ตาแดง แรงหาย อย่านิ่งดูดายรีบมาโรงพยาบาล“
หากใครเกิดในยุค 90 คงจะคุ้นเคยกับเพลงนี้ เป็นเพลงจากภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจ ให้ใครหลายๆ คนเติบโตขึ้นมาเป็นคุณหมอ หมอเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยได้ยินเพลงนี้ผ่านหูมาบ้าง ช่วงหน้าฝน มีน้ำรอการระบาย หรือน้ำท่วมขังอยู่ในหลายพื้นที่
โรคที่พบได้มากขึ้นในช่วงหน้าฝนคือ Leptospirosis (อ่านว่า เล็บ-โต-สะ-ไป-โร-ซิส) หรือว่าโรคฉี่หนู เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Leptospira (อ่านว่า เล็บ-โต-สะ-ไป-ร่า) โดยมีหนูเป็นหนึ่งในพาหะนำโรค นอกจากนี้ยังมีสัตว์อีกหลายชนิดเป็นพาหะนำโรค เช่น สุนัข วัว สุกร ติดต่อจากปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ และปนเปื้อนอยู่ตามน้ำดินที่เปียกชื้น หรือพืชผัก โดยเชื้อสามารถไชเข้าสู่ร่างกายตามผิวหนัง หรือตามรอยแผลและรอยขีดข่วน หรือแม้กระทั่งเยื่อบุของตา จมูก และปาก ผ่านการรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีโรคโดยไม่ได้ปรุงให้สุกก่อน
อาการของโรคฉี่หนู
1.ผู้ป่วยมักจะมาด้วยอาการไข้หนาวสั่นเฉียบพลัน ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะรุนแรง
2.ปวดตามกล้ามเนื้อ ตาแดง โดยอาจจะมีไข้ติดต่อกันหลายวัน โดยเป็นลักษณะไข้ขึ้นๆ ลงๆ
3.จุดเลือดออกตามผิวหนัง และเยื่อบุ
4.หากอาการหนักมากอาจจะมีตับและไตวาย ทำให้อวัยวะภายในทำงานผิดปกติและถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยนะครับ
หากมีอาการต้องสงสัยตามเพลงที่ร้องจนจำได้ขึ้นใจ “เป็นไข้ ปวดเมื่อย ตาแดง แรงหาย” อย่านิ่งดูดายรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกาย วินิจฉัยเพื่อให้รักษาได้อย่างถูกวิธีนะครับ โดยโรคนี้เป็นโรคที่รักษาให้หายได้ ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะโดยเร็วที่สุด จะช่วยลดความรุนแรงและป้องกันไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อนของโรคได้
สำหรับช่วงหน้าฝนที่มีความเสี่ยงในการสัมผัสโรคมากขึ้นนี้ หมอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ หรือลุยในน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อจากปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค ถ้าจำเป็นจริงๆ ควรสวมรองเท้าที่คลุมสูง อย่างเช่นรองเท้าบู๊ท โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกร ผู้ที่ทำงานที่เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อโรค ถ้าพบสัตว์ติดเชื้อต้องแยกออกเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังสัตว์ตัวอื่นๆและฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้แก่สัตว์ด้วย สุดท้ายที่สำคัญครับ จากการที่หนูเป็นพาหะนำโรคที่พบได้ตามที่อยู่อาศัย เราจึงควรทำที่อยู่อาศัยของเราให้สะอาด เพื่อเป็นหนึ่งในวิธีการควบคุมกำจัดหนูภายในบ้านด้วยครับ
บทความโดย
นายแพทย์ภูธิทัต ขำปัญญา