โรคผิวเครียด ภัยใกล้ตัวที่เราอาจไม่เคยรู้
รู้ไหมว่า ความเครียดส่งตรงไปยังผิวเรา..มาทำความรู้จัก ‘โรคผิวเครียด’ สาเหตุ อาการวิธีป้องกัน ถ้าอยากผิวดี..มาดูกันเลย
เมื่อเรารู้สึกเครียด คุณเคยสังเกตร่างกายตัวเองไหม ว่าร่างกายส่งสัญญาณอะไรบอกเราบ้าง หลายคนอาจพบว่าร่างกายอ่อนเพลียง่าย ไม่ค่อยมีแรง ปวดศีรษะ อาการเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เรามักเผชิญได้บ่อย ๆ ขณะเดียวกันในคนที่พบว่าตนเองกำลังมีปัญหาผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิว ผิวแห้ง ผื่นภูมิแพ้ หรือภาวะที่มีเหงื่อออกมือมากกว่าปกติ อาการเหล่านั้นก็เป็นอีกสัญญาณเตือนหนึ่ง ซึ่งกำลังบอกว่าเรากำลังมีความเครียดในระดับที่ส่งผลต่อร่างกาย เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการทางผิวหนังขึ้น
ความผิดปกติหรืออาการทางผิวหนังที่เกิดมาจากความเครียดนั้น เรียกว่า โรคผิวเครียด (Psychodermatology) เป็นปฏิกิริยาระหว่างจิตใจกับผิวหนัง ซึ่งเกิดจากสภาวะจิตใจหรือความเครียดที่กระตุ้นให้ระบบประสาทและต่อมไร้ท่อภายในร่างกายหลั่งฮอร์โมนบางชนิดออกมามากกว่าปกติจนร่างกายเสียสมดุล ส่งผลกระทบต่อกระบวนการทำงานในร่างกาย รวมถึง "ผิวพรรณ" ด้วยนั่นเอง เมื่อคนไข้มีอาการทางผิวหนังมักจะรายงานถึงอาการของตนเองในทางลบมากขึ้นเมื่ออยู่ในสถานการณ์หรือกำลังเผชิญความเครียด และเมื่อพูดคุยซักถามประวัติก็มักพบว่า ส่วนใหญ่เจอกับความเครียดในชีวิตประจำบ่อย ๆ เป็นปกติ (Tausk, et al., 2008)
หากเรามีความเครียดในระดับที่ส่งผลทำให้เกิดโรคผิวเครียด จะทำให้มีอาการเหล่านี้คือ
1. ผิวเสียความสมดุล เนื่องจากความเครียดที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้การหลั่งของฮอร์โมนภายในร่างกายผิดปกติได้ โดยพบว่าต่อมเหงื่อทำงานมากเกินไป ร่างกายหลั่งเหงื่อออกมามากจนผิวเกิดความสูญเสียความชุ่มชื้น กระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตไขมันออกมามากขึ้นเพื่อพยายามรักษาความชุ่มชื้นของผิว จนทำให้เกิดความมันส่วนเกิดบนใบหน้าและเกิดการอุดตันรูขุมขน เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสิวในที่สุด
2. ผิวหมองคล้ำ เมื่อเรามีความเครียดจะส่งผลทำให้สุขภาพผิวอ่อนแอ ผิวเกิดความเปราะบาง มีความไวต่อแสงแดดได้ง่ายขึ้น ทำให้ผิวคล้ำเสียจากแดดได้ง่าย ดูหมองคล้ำ นอกจากนี้เมื่อผิวเกิดการผลิตเม็ดสีที่ผิดปกติไป อาจเปลี่ยนจากผิวหมองคล้ำจนกลายเป็นฝ้าได้
3. ผิวแพ้ง่าย ผิวอักเสบ เมื่อคุณเกิดความเครียด ความกลัวหรือความวิตกกังวล ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีน ซึ่งจะเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ระดับความดันโลหิต และหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลที่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อร่างกายหลั่งฮอร์โมนชนิดนี้มากเกินไปจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลงส่งผลให้ป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย อีกทั้งเพราะภูมิคุ้มกันอ่อนแอยังส่งผลให้เซลล์ผิวอ่อนแอตามไปด้วย เกิดอาการผิวแพ้ง่าย ผื่นแดง ผิวอักเสบ ผิวลอกเป็นขุย จนบางรายอาจเป็นโรคผิวหนังได้ เช่น สะเก็ดเงิน หรือผื่นแพ้อักเสบ
4. ผิวแก่ก่อนวัย ริ้วรอย ผิวหย่อนคล้อย หน้าดูแก่กว่าวัยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยหนึ่งในสาเหตุเหล่านั้นคือ ความเครียด ฮอร์โมนความเครียดจะไปทำลายคอลลาเจนและอีลาสตินในชั้นผิวส่งผลต่อความยืดหยุ่นของผิว
ปัจจัยที่มีผลต่อโรคผิวหนังดังกล่าวยังไม่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ตามในงานวิจัยต่าง ๆ มีการประมาณว่า ความชุกที่จะพบในคนทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 25 ถึง 30 และพบว่าสิ่งเร้าที่ผิวหนังได้รับสามารถส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ระบบประสาทและต่อมไร้ท่อ ทั้งในบริเวณเฉพาะและวงกว้างต่อร่างกายของเรา (Toyoda, 2002) โดยร่างกายเราจะตอบสนองความเครียดด้วยการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอรอยด์ (corticosteroid) มีผลลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันลง ทำให้ร่างกายเปราะบางต่อการสร้างภูมิคุ้มกันต่อสิ่งปนเปื้อน
ดังนั้น เราจึงควรหันมาใส่ใจกับสุขภาพใจ อารมณ์ และรู้ทันตนเอง เป็นการการดูแลจิตใจพร้อมไปกับร่างกายซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดและผลกระทบอย่างโรคผิวเครียดตามมา โดยวิธีในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคผิวเครียดมีดังนี้
1. ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยร่างกาย สมองและจิตใจควรได้พักการทำงาน 7 – 9 ชั่วโมง เพื่อให้เราได้รับการฟื้นฟูอย่างเต็มที่
2. ออกกำลังกาย 3 – 4 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ เพื่อเป็นการช่วยบริหารกล้ามเนื้อร่างกาย รวมทั้งยังเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจไปพร้อมกันด้วย
3. ฝึกสมาธิ โดยแต่ละบุคคลอาจจะหากิจกรรมฝึกสมาธิไปตามความชอบที่แตกต่างกัน เพื่อเป็นการฝึกการจดจ่อและใช้เวลากับตัวเองมากขึ้น ให้เข้าใจความคิดและสภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นและฝึกการผ่อนคลายไปด้วยในตัว
4. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีสารจำพวกแอนติออกซิแดนท์ เพื่อช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ รวมทั้งเซลล์ผิว และช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง
สำหรับการรักษาอาการผิวเครียด สิ่งสำคัญที่สุดคือ การไม่ทำงานอย่างหักโหมและพยายามป้องกันการเกิดความเครียด หรือหากมีความเครียดเกิดขึ้น ควรหาสาเหตุและหาแนวทางในการแก้ไขเพื่อกำจัดความเครียดนั้นไป รู้จักการพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ไม่ควรใช้งานร่างกายจนทำให้ร่างกายเหนื่อยเกินไป และควรรู้เท่าทันจิตใจของตนเอง เพื่อเข้าใจอารมณ์ที่เกิดขึ้นและสามารถหาวิธีรับมือได้อย่างเหมาะสม ประกอบกับการทำกิจกรรมที่ช่วยฝึกสมาธิ การออกกำลังกายอย่างน้อยวันละครึ่งชั่วโมงเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากความเครียดและทำให้สมองหลั่งสารความสุขที่เรียกว่า เอ็นโดรฟิน ซึ่งสารนี้มีฤทธิ์คลายปวดทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ส่วนอาการทางผิวหนังที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผิวแห้ง ผิวเป็นสิวอักเสบ ผิวแพ้ง่าย ผิวลอก ฯลฯ ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาตามอาการให้บรรเทาลง และควรหาสาเหตุและการจัดการกับความเครียดซึ่งเป็นสาเหตุของอาการทางผิวหนังร่วมกันด้วย
บทความที่มาจาก
ดร.กัณฐรัตน์ เหลืองอ่อน
CEO - ME HUG ศูนย์บริการด้านสุขภาพจิต
และส่งเสริมพัฒนาการทุกช่วงวัย