top of page

ไข้หวัดใหญ่

อีกหนึ่งโรคที่คนมักเป็นกันในช่วงหน้าฝน คือ ไข้หวัดใหญ่ วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับไข้หวัดใหญ่ให้มากขึ้นกัน

มาทำรู้จัก “ไข้หวัดใหญ่” ให้มากขึ้น


เข้าช่วงหน้าฝนแล้ว อากาศเปลี่ยนแปลง หากใครที่ไม่ดูแลสุขภาพให้ดี พักผ่อนให้เพียงพอ โรคระบาดสุดฮิตต่างๆ ที่มักเป็นกันบ่อยในช่วงนี้ก็อาจจะเล่นงานคุณได้ ทั้งโรคระบบทางเดินหายใจ โรคติดต่อทางน้ำและอาหาร โรคที่มีสัตว์อย่างยุงเป็นพาหะหรือโรคที่ติดเชื้อทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง ซึ่งโรคต่างๆ เหล่านี้อาจจะมีอาการนำมาในแบบเดียวกันคือ “ไข้” บางโรคอาการนำมาไม่ชัดเจน



แต่วันนี้หนึ่งในโรคที่หมอจะแนะนำให้ทุกคนทำความรู้จักให้มากขึ้น มีอาการชัดเจน แต่อาจจะแยกได้ยากกับโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกัน โรคนั้นก็คือ “ไข้หวัดใหญ่” ครับ

ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ที่มีเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Influenza virus (อ่านว่า อิน-ฟลู-เอน-ซ่า-ไว-รัส) เป็นเชื้อก่อโรค เกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในช่วงหน้าฝน บวกกับการหายใจเอาเชื้อก่อโรคที่ลอยอยู่ในอากาศจากการไอ จามของผู้ป่วยเข้าไป โดยเชื้อสามารถกระจายติดต่อจากคนสู่คนในรูปแบบที่เรียกว่า Droplet หรือภาษาไทยคือ ละอองฝอยที่มีขนาดมากกว่า 5 ไมครอน โดยเป็นละอองฝอยของสารคัดหลั่ง น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ เป็นลักษณะการแพร่เชื้อแบบเดียวกับ โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทุกคนคุ้นเคยกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา



คำแนะนำในการป้องกันการติดเชื้อ


1.รักษาระยะห่างจากผู้ป่วย 1-2 เมตร (ตัวเลขนี้เป็นะยะที่ละอองฝอยสามารถลอยไปได้ไกลจากการไอ หรือจามออกมา) หรือแม้กระทั่งการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสก็ทำให้เราติดเชื้อได้ เพราะเหตุนี้เมื่อไม่สบาย หรือต้องพักอาศัยร่วมกับผู้ป่วย เราจึงควรแยกของใช้ส่วนตัว แยกโต๊ะรับประทานอาหาร หรือใช้ช้อนกลาง และล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์จะช่วยให้ความเสี่ยงในการติดเชื้อน้อยลง


2.ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือลดความรุนแรงของโรคได้ด้วยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในวัคซีนประจำปี ที่แนะนำให้ทุกคนได้รับ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เด็กน้อยอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 65 ปี หรือผู้ที่ตั้งครรภ์ หรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง หรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยสามารถติดต่อขอรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ตามโรงพยาบาลที่มีสิทธิ์ หรือคลินิกใกล้บ้าน



3.การรับวัคซีน COVID-19 และไข้หวัดใหญ่ในเวลาเดียวกันสามารถทำได้ ถึงแม้วัคซีนจะไม่สามารถการป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่สุขอนามัยที่ดีสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ถ้าเราติดเชื้อไปแล้วอาการจะเป็นอย่างไร



1.โรคนี้มักจะมีไข้ และมีอาการที่คล้ายกับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ ซึ่งมองเผินๆ อาจจะเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่อาการของไข้หวัดใหญ่มักจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดาทั่วไปซึ่งจะค่อยๆ แสดงอาการออกมา โดยอาการที่สงสัยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ มีดังนี้ ไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะและปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาจจะมีอาการเจ็บคอ (เจ็บคอในที่นี้ควรจะเป็นอาการกลืนน้ำลายเจ็บ)


2.มีอาการไอ มีน้ำมูก และเสมหะค่อนข้างมาก โดยการวินิจฉัยว่าติดเชื้อหรือไม่ วิธีการคล้ายกับการตรวจ ATK ของ COVID-19 โดยเก็บสารคัดหลั่งในโพรงจมูกเพื่อตรวจหาเชื้อ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อส่วนใหญ่สามารถพักรักษาตัวที่บ้านได้ แต่ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ หรือตั้งครรภ์ ควรไปพบแพทย์โดยทันที


โดยไข้หวัดใหญ่มียาต้านไวรัสชื่อ Oseltamivir โดยมีคำแนะนำให้เริ่มยาตั้งแต่ระยะแรกๆ จึงจะมีประโยชน์สูงสุด สามารถรักษาผู้ป่วยให้อาการลดลง รวมถึงป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างปอดอักเสบได้ หากเริ่มยาภายใน 48 ชั่วโมงเมื่อเริ่มมีอาการ หรือทราบว่าติดเชื้อ ซึ่งยาตัวนี้เป็นยาควบคุมพิเศษไม่มีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป หากคุณมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ และมีความจำเป็นต้องใช้ยา ควรเข้าไปพบแพทย์ตามโรงพยาบาล หรือคลินิกใกล้บ้าน เพื่อให้คุณหมอเป็นคนสั่งจ่ายยาตามความเหมาะสมนะครับ



เมื่อไม่สบายพักผ่อนอยู่บ้านจนกว่าจะหายเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้คนรอบข้าง “กินของร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ” แต่หากมีความจำเป็นต้องออกจากบ้านหรือไปโรงพยาบาลให้สวมหน้ากากอนามัย ด้วยความห่วงใยครับ


 

บทความโดย

นายแพทย์ภูธิทัต ขำปัญญา

bottom of page