top of page

ภาวะสมองล้า

วัยทำงาน รีบเช็ก.. ใครมีอาการ นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย ไร้สมาธิ อาจเป็นสัญญานของสภาวะ ‘สมองล้า’ ได้สภาวะสมองล้า คืออะไร อันตรายไหม แล้วจะรับมือยังไง มาหาคำตอบกันได้ในบทความนี้เลย

ภาวะสมองล้า (Brain fog) ไม่ใช่ศัพท์ทางการแพทย์โดยตรง แต่เป็นกลุ่มของอาการดังต่อไปนี้


  • การเสียสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อทำงานได้ (Poor concentration)

  • รู้สึกสับสน งง เหมือนพึ่งตื่นนอน (Feeling confused)

  • รู้สึกคิดช้ากว่าปกติ (Thinking more slowly than usual)

  • รู้สึกหัวไม่โล่ง คิดอะไรไม่ค่อยออก (Fuzzy thoughts)

  • ขี้หลงขี้ลืม (Forgetfulness)

  • คิดคำบางคำไม่ค่อยออก (Lost words)

  • รู้สึกมีความล้าทางจิตใจ ต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติในการคิดเรื่องต่างๆ (Mental fatigue)



ภาวะสมองล้า


อาจรู้สึกเหมือนเวลาที่อดหลับอดนอน หรือเครียด แต่จะไม่เหมือนกับภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากความเสียหายที่ตัวเนื้อสมอง โดยส่วนใหญ่สามารถดีขึ้นได้ สามารถพบได้หลังการติดเชื้อ อุบัติเหตุกระทบกระเทือนที่ศีรษะ หรือช่วงกำลังหมดประจำเดือน(Menopause) และพบได้บ่อยในผู้ที่มีความตึงเครียด ความกังวลสูง มีภาวะซึมเศร้า มีโรคความผิดปกติทาวด้านฮอร์โมน เช่น โรคไทรอยด์ผิดปกติ การขาดวิตามิน เช่นการขาดวิตามิน B12 และ

สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด สามารถพบภาวะนี้ได้ทั้งผู้ที่ป่วยแล้วต้องนอนโรงพยาบาล และในภาวะลองโควิด(Long covid)ได้อีกด้วย หลายครั้งที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุร่วมกัน


สิ่งที่ควรทำเพื่อให้ภาวะสมองล้าดีขึ้น


1. ควรพิจารณาหาสาเหตุ เช่น หลีกเลี่ยงเรื่องที่ทำให้เกิดความเครียด หรือกังวลใจ และสิ่งกระตุ้นอื่นๆ เช่น งาน และครอบครัว และตรวจหาโรคที่อาจเป็นสาเหตุ แล้วทำการแก้ไขที่ต้นเหตุ



2. ดื่มน้ำให้เพียงพอ 1.5-2 ลิตรต่อวันเพราะน้ำทำหน้าที่สำคัญช่วยในการทำงานของสมองและร่างกาย



3. นอนหลับให้เพียงพอ มีความสำคัญอย่างมากในกระบวนการกำจัดของเสีย ซึ่งมีผลทำให้เกิดภาวะสมองล้า การเข้านอนเป็นเวลา อย่างน้อย 6-8ชม. หลีกเลี่ยงการนอนดึก การอดหลับอดนอน การใช้มือถือและดูทีวีก่อนเข้านอน ก็จะช่วยได้

4. ออกกำลังกายตามความสามารถ ให้สม่ำเสมอ และถ้าเป็นไปได้ควรออกในที่แจ้งร่วมด้วย เพราะแสงแดดอ่อนๆจะช่วยการทำงานของสมอง และการนอนหลับที่ดีขึ้น



5. กินอาหารที่มีคุณค่า และเพียงพอ เช่นการรับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งจะช่วยความจำและช่วยให้สมองดี


6. ทำสมาธิ ฝึกหายใจ และฝึกการปล่อยวาง ช่วยให้เกิดความผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ

7. รู้จักผ่อนคลายจากความเครียด ความกังวล พักเบรคระหว่างการทำงานบ้างอย่างเหมาะสม

8. มีกิจกรรมที่สร้างความบันเทิง อย่างเหมาะสม เช่น เล่นเกมส์ ทำสวน เล่นโยคะ ฝึกยืดเหยียด ทักทายกับเพื่อนและคนรอบตัว รวมถึงการมีกิจกรรมสร้างสรรค์ ฟังเพลงแบบต่างๆ หรือกิจกรรมที่แปลกใหม่ จะช่วยในการหลั่งสาร norepinephrineที่จะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองเพิ่มได้



9. หลีกเลี่ยงการทำงานหลายๆอย่างในเวลาเดียวกัน(Multitasking) ซึ่งจะใช้พลังงานสมองมากกว่าปกติ ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของสมองลดลง พยายามฝึกทำงานแบบตั้งใจทีละสิ่ง(Focusing) ทำงานแบบช้าลงและทำให้เสร็จทีละอย่าง

10. หลีกเลี่ยง เหล้า บุหรี่ และยาเสพย์ติด ที่ออกฤทธิ์ทำลายสมอง


อย่างไรก็ตามหากอาการยังไม่ดีขึ้นท่านควรหาที่ปรึกษา นักบำบัด หรือพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ และให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสม



 

ขอบคุณที่มาจาก


นพ.อดิศักดิ์ กิตติสาเรศ

อายุรแพทย์ สาขาประสาทวิทยา

bottom of page